8/06/2557

การโต้แย้งการประเมินค่าภาษีอากร

การคัดแยกสิ่งของส่งทางไปรษณีย์เพื่อปฏิบัติพิธีการศุลกากร


สิ่งของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยทางไปรษณีย์ จะถูกเปิดตรวจโดยเจ้าหน้าที่ศุลกากรร่วมกับเจ้าหน้าที่บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เพื่อตรวจคัดแยกในการปฏิบัติพิธีการศุลกากร ก่อนส่งมอบให้กับผู้มีชื่อรับของ แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้

ประเภทที่ 1 : ของยกเว้นอากร คือ ของที่มีหลักเกณฑ์ ดังนี้
1. ของแต่ละหีบห่อมีราคา ไม่เกิน 1,000.- บาท หรือ
2. ตัวอย่างสินค้าที่ใช้ได้แต่เพียงเป็นตัวอย่างและไม่มีราคาในทางการค้า บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เป็นผู้นำของไปส่งมอบให้แก่ผู้มีชื่อรับของตามที่อยู่ที่ผู้ฝากส่งระบุไว้ที่หน้าหีบห่อ

ประเภทที่ 2 : ของต้องชำระอากร คือ ของที่ส่งจากผู้ส่งคนหนึ่งถึงผู้รับคนหนึ่งในคราวเดียวกัน หรือเข้ามาถึงพร้อมกัน ไม่ว่าจะมีกี่หีบห่อ หากมีราคา FOB ( Free On Board ) รวมกันไม่เกิน 40,000.- บาท (สี่หมื่นบาทถ้วน) และไม่เป็นของต้องห้าม ต้องกำกัด หรือ ไม่เป็นของต้องส่งตัวอย่างวิเคราะห์สินค้าก่อนปล่อย
เจ้าหน้าที่ศุลกากรจะประเมินราคาและค่าอากรแล้วส่งมอบของให้ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด นำส่งไปที่ที่ทำการไปรษณีย์ปลายทางเพื่อส่งมอบให้แก่ผู้มีชื่อรับของและเรียกเก็บอากรแทนกรม ศุลกากร โดยบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด จะออก “ ใบแจ้งให้ไปรับสิ่งของส่งทางไปรษณีย์ระหว่างประเทศ ” และส่งไปให้ผู้มีชื่อรับของเพื่อแจ้งให้ไปรับของและชำระอากร ณ ที่ทำการไปรษณีย์ที่ระบุไว้ในใบแจ้งฯ โดยที่ทำการไปรษณีย์จะเป็นผู้ออกใบเสร็จรับเงินแทนกรมศุลกากร

ประเภทที่ 3 : ของอื่นๆ นอกจากประเภทที่ 1 และ 2
เจ้าหน้าที่ศุลกากรจะส่งมอบของให้ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เพื่อนำไปเก็บรักษาไว้ในคลังสินค้า และบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด จะออก “ ใบแจ้งให้ไปรับสิ่งของส่งทางไปรษณีย์ระหว่างประเทศ ”( NOTIFICATION TO COLLECT TNTERNATIONAL POSTAL ITEMS ) แล้วส่งไป ให้ผู้มีชื่อรับของ เพื่อแจ้งให้ไปปฏิบัติพิธีการศุลกากรและขอรับของ ณ ส่วนบริการศุลกากร ไปรษณีย์และอากาศยาน ถนนรองเมือง หรือด่านศุลกากรที่ระบุไว้ในใบแจ้งฯ


การปฏิบัติพิธีการศุลกากรสำหรับของประเภทที่ 3 สามารถดำเนินการได้ 2 แบบ คือ


1. กรณีของมีราคาเกินกว่า 40,000.- บาท (สี่หมื่นบาทถ้วน) ผู้รับของจะต้องจัดทำใบขนสินค้าขาเข้า และส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เข้าระบบคอมพิวเตอร์กรมศุลกากร (ส่วนบริการศุลกากรไปรษณีย์และอากาศยาน จัดเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำการจัดทำใบขนสินค้าขาเข้าและมี Service Counter ให้บริการส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์)
2. กรณีของมีราคาไม่เกิน 40,000.- บาท (สี่หมื่นบาทถ้วน) ผู้รับของไม่ต้องจัดทำใบขนสินค้าขา เข้า โดยเจ้าหน้าที่ศุลกากรจะประเมินราคาและจัดเก็บค่าภาษีอากร ณ จุดเดียวกัน

เอกสารที่ใช้ในการติดต่อขอรับสิ่งของ
1. กรณีขอรับสิ่งของด้วยตนเอง
1.1 “ ใบแจ้งให้ไปรับสิ่งของส่งทางไปรษณีย์ระหว่างประเทศ ”
1.2 บัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรที่ทางราชการออกให้ของผู้มีชื่อรับของที่ระบุในใบแจ้ง

2. กรณีมอบอำนาจให้ผู้อื่นขอรับสิ่งของแทน
2.1 “ ใบแจ้งให้ไปรับสิ่งของส่งทางไปรษณีย์ระหว่างประเทศ ” โดยให้ผู้มีชื่อรับของบันทึก รายละเอียดการมอบอำนาจให้แก่ผู้รับมอบอำนาจ พร้อมลงลายมือชื่อรับรองทั้ง 2 ฝ่าย ที่ด้านหลังใบแจ้งฯ
2.2 สำเนา บัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบอำนาจ ( ลงนามรับรองสำเนา ) 
2.3 บัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ

3 . กรณีผู้มีชื่อรับของเป็นนิติบุคคล เช่น บริษัท ห้างหุ้นส่วนจำกัด
3.1 “ ใบแจ้งให้ไปรับสิ่งของส่งทางไปรษณีย์ระหว่างประเทศ ” และให้ผู้มีอำนาจลงนามพร้อมประทับตราบริษัทฯ ที่ด้านหลังใบแจ้งฯ
3.2 สำเนาบัตรประชาชนของเจ้าของหรือผู้จัดการ หรือสำเนาบัตรประชาชนของผู้มีอำนาจลงนามในเอกสารผูกพันนิติบุคคลนั้นๆ ( ลงนามรับรองสำเนา ) และบัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ
3.3 สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัท ห้างฯ ร้าน และลงนามรับรองสำเนาพร้อมประทับตราบริษัทฯ
หมายเหตุ : ผู้รับมอบอำนาจจะมอบอำนาจต่อให้บุคคลที่สามอีกไม่ได้


การโต้แย้งการประเมินค่าภาษีอากร (ของประเภทที่ 2)


กรณีที่ผู้รับของไปติดต่อขอรับสิ่งของที่ที่ทำการไปรษณีย์ และมีค่าภาษีอากรที่จะต้องชำระสำหรับสิ่งของนั้นๆ หากผู้รับของประสงค์ที่จะโต้แย้งการประเมินค่าภาษีอากร
1. ให้ทำคำร้องเป็นลายลักษณ์อักษร (สามารถพิมพ์แบบคำร้องได้ที่ www.postalcustoms.com ) พร้อมแนบ “ ใบแจ้งให้ไปรับสิ่งของส่งทางไปรษณีย์ระหว่างประเทศ ” และเอกสารที่เกี่ยวข้อง
2. ส่งคำร้องถึง ส่วนบริการศุลกากรไปรษณีย์และอากาศยาน สำนักงานศุลกากรกรุงเทพ กรมศุลกากร โดยตรงหรือส่งผ่านที่ทำการไปรษณีย์ที่ไปติดต่อรับของ
3. ผู้รับของจะต้องยังไม่ชำระค่าภาษีอากร เมื่อมีการยื่นคำร้องอุทธรณ์แล้วที่ทำการ ไปรษณีย์จะจัดส่งสิ่งของที่ได้อุทธรณ์นั้น ไปยังส่วน บริการศุลกากรไปรษณีย์และอากาศยาน เพื่อพิจารณาคำร้องอุทธรณ์ค่าภาษีอากรนั้นต่อไป
4. ต่อมาให้ผู้ยื่นคำร้องอุทธรณ์ไปติดต่อขอรับของพร้อมชำระค่าภาษีอากรที่ส่วนบริการ ศุลกากรไปรษณีย์และอากาศยาน ถนนรองเมือง แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ

หน่วยงานอื่นที่ร่วมให้บริการ ณ ที่ทำการส่วนบริการศุลกากรไปรษณีย์และ อากาศยาน
1. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข โทรศัพท์ 0 2215 4511
2. ด่านตรวจพืชไปรษณีย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โทรศัพท์ 0 2215 3712

มีปัญหาในการขอรับสิ่งของโปรดติดต่อ
1. ผู้อำนวยการส่วนบริการศุลกากรไปรษณีย์และอากาศยาน โทรศัพท์ 0 2215 3717 โทรสาร 0 2214 2395
2. หัวหน้าฝ่ายบริการศุลกากรไปรษณีย์ โทรศัพท์ 0-2215 0966-8 ต่อ 24 โทรสาร 0-2216-8824
3. หัวหน้าฝ่ายตรวจคัดไปรษณียภัณฑ์ โทรศัพท์ 0-2215 0966-8 ต่อ 20 โทรสาร 0-2216-8823

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
ส่วนบริการศุลกากรไปรษณีย์และอากาศยาน
สำนักงานศุลกากรกรุงเทพ กรมศุลกากร
127 ถนนรองเมือง แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10000
โทรศัพท์ 0 2215 0966-8 ต่อ 12
โทรสาร 0 2214 2395
e-Mail : www.postalcustoms.com